อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ
(พ.ศ. 2465 – 2514)

อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2465 ที่กรุงเทพฯ เริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม จากนั้นได้ศึกษาวิชาช่างชั้นสูงของกรมศิลปากรอีก 1 ปี พ.ศ. 2485 เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างจัตวา แผนกหัตถศิลป์ กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร พร้อมทั้งเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมด้วย ในปี 2492 ได้รับทุนจากกระทรวงศึกษาธิการให้ไปศึกษาต่อทางด้านประติมากรรมที่โรงเรียนศิลปะเชลซี (Chelsea School of Art) กรุงลอนดอน เป็นเวลา 1 ปี โดยมีเฮนรี่ มัวร์ (Henry Moore) ประติมากรชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ต่อมาในปี 2496 ได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีให้ไปศึกษาต่อทางด้านประติมากรรมและประวัติศาสตร์ศิลปะที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงโรม (Accademia di Belle Arti di Roma) เป็นเวลา 2 ปี เมื่อจบการศึกษาได้ตระเวนไปศึกษาดูงานศิลปะทั้งในอิตาลีและประเทศอื่นๆ ทางตอนเหนือของยุโรป

เมื่อศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 อาจารย์เขียนส่งผลงานประติมากรรมสำริดชื่อ “ขลุ่ยทิพย์” เข้าร่วมประกวด และคว้ารางวัลเกียรตินิยมอับดับ 1 เหรียญทอง สาขาประติมากรรม ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2493) อาจารย์เขียนได้รับรางวัลเกียรตินิยมอับดับ 1 เหรียญทอง สาขาประติมากรรม อีกครั้งจากผลงานชื่อ “ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม/สยามเมืองยิ้ม” และในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 – 4 (พ.ศ. 2494 – 2496) ยังได้รับรางวัลเกียรตินิยมอับดับ 2 เหรียญเงิน สาขาประติมากรรม จากการประกวดต่อกันถึง 2 ครั้ง ทำให้ได้รับการยกย่องเป็น “ศิลปินชั้นเยี่ยม” สาขาประติมากรรม คนแรกของเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2496 หลังจากนั้นได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเรื่อยมาจนกระทั่งเสียชีวิต

พ.ศ. 2507 ภายหลังจากที่ศาสตราจารย์ศิลป์ถึงแก่กรรม อาจารย์เขียนได้ดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อจากศาสตราจารย์ศิลป์ถึงปี 2514 นอกจากนี้ ได้เขียนงานวิชาการทางด้านศิลปะ และแปลบทความเกี่ยวกับงานศิลปกรรมตะวันตกและตะวันออกของศาสตราจารย์ศิลป์เพื่อเผยแพร่อีกด้วย

อาจารย์เขียนเป็นประติมากรที่มีความเชี่ยวชาญในการปั้นรูปเหมือน ผลงานไม่ได้แสดงออกเพียงความเหมือน แต่ยังถ่ายทอดบุคลิก ลักษณะ อารมณ์ ตลอดจนจิตวิญาณของผู้เป็นแบบด้วย ต่อมาได้เริ่มศึกษาค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปในยุคสมัยต่างๆ ในระยะนี้อาจารย์เขียนสร้างสรรค์งานประติมากรรมที่มีรูปแบบผสมผสานกันระหว่างความเป็นสากลและไทยประเพณี ลักษณะของผลงานจึงแตกต่างจากประติมากรรมที่เป็นรูปเหมือนโดยสิ้นเชิง

งานประติมากรรมของอาจารย์เขียนนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของคนไทยที่มีความผูกพันอยู่กับครอบครัว การละเล่น และประเพณีไทย ผลงานงดงามด้วยเส้นโค้ง แสดงให้เห็นถึงความประณีต ละเอียดอ่อนในการเลือกใช้เส้นและรูปทรงที่เรียบง่ายมาสอดประสานกันอย่างลงตัว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระพุทธรูปแบบสุโขทัยและตุ๊กตาเสียกบาล นอกจากนี้ ผลงานยังมีการลดทอนรายละเอียดและโครงสร้างของร่างกายตามหลักกายวิภาค ปราศจากเส้นสายของกล้ามเนื้อและกระดูก พื้นผิวของประติมากรรมมีความเรียบเนียน เกลี้ยงเกลา รู้สึกได้ถึงความอ่อนไหว จังหวะและลีลาท่าทางของผลงานมีการประสานกันอย่างกลมกลืน

งานประติมากรรมชิ้นเด่นของอาจารย์เขียน ได้แก่ “ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม/สยามเมืองยิ้ม” ลักษณะของผลงานเป็นหญิงสาวกำลังร่ายรำด้วยท่าทางที่อ่อนช้อย กระฉับกระเฉง แสดงออกถึงความสนุกสนานรื่นเริงแบบไทยๆ ผลงานมีการใช้เส้นที่สอดประสานรับกันอย่างมีจังหวะ แสดงสัดส่วนของร่างกายโดยไม่ได้ยึดติดกับโครงสร้างตามหลักกายวิภาค ซึ่งเห็นได้จากใบหน้า แขน และสะโพกที่ดูอ่อนช้อยเกินจริง ให้ความรู้สึกสนุกสนานไปกับท่าทางร่ายรำของงานประติมากรรม

ศาสตราจารย์ศิลป์เคยกล่าวถึงผลงานของอาจารย์เขียนไว้ว่า “…ภาพปั้นหญิงสาวกำลังหวีผมของเขียน ยิ้มศิริ ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความรู้สึกของไทยที่มีความสัมพันธ์กับงานประติมากรรมตามประเพณีของเรา การให้ลักษณะกายวิภาคอย่างง่ายๆ ของรูปทรงและลีลาอันประสานกลมกลืนอย่างอ่อนไหวของปริมาตรแห่งงานประติมากรรม…”

อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ถึงแก่กรรมด้วยโรคไขมันในเส้นเลือดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2514 สิริอายุ 49 ปี


Khien Yimsiri 's Work

ผลงาน อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ


ผลงานอื่นๆ